งานแสดงสินค้านานาชาติแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1

เรียบเรียงโดย ธนกร ช่อไม้ทอง* 

        สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เป็นที่ทราบกันดีของชาวรามคำแหงว่า มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ซึ่งรกร้างจากการจัด "งานแสดงสินค้านานาชาติแห่งเอเชีย (ASIA International Trade Fair) ครั้งที่ 1" ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2509 มาใช้เป็นสถานที่จัดตั้งมหาวิทยาลัย โดยการบุกเบิกของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ อาคารเก่าในพื้นที่หลายหลัง ถูกซ่อมแซมปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติงานของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ก่อนที่อาคารเหล่านั้นจะผุพังลงไปตามกาลเวลา เช่น อาคารห้องประชุมและโรงภาพยนตร์ ที่ถูกซ่อมแซมใหม่ และใช้ชื่อว่าอาคาร AD1 สำหรับใช้เป็นที่ทำการของสำนักงานอธิการบดี  

        ขอขอบคุณ คุณ Owl2 สมาชิกของเว็บ Pantip ได้ให้ความอนุเคราะห์มอบภาพบัตรผ่านประตูเข้าชมงานแสดงสินค้านานาชาติ ครั้งที่ 1 และภาพอาคารต่างๆ ในงาน ซึ่งปรากฎอยู่ในนิตยสารเสรีภาพ ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ให้เราได้นำมาเก็บไว้และเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในทางการศึกษา  อย่างน้อย ก็ทำให้เราได้รู้ถึงรากเหง้าและความเป็นมาบางส่วน ของสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งแห่งนี้ 

* นักเอกสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2563, กรกฎาคม 13) 

ภาพ 1 แผนผังการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ 

หมายเลข 1 เป็นโซนสำหรับร้านของรัฐบาลต่างประเทศ
หมายเลข 2 เป็นโซนแสดงสินค้าในประเทศไทย
หมายเลข 3 เป็นโซนร้านแสดงสินค้าจากต่างประเทศ
หมายเลข 4 เป็นภัตตาคาร
หมายเลข 5 เป็นห้องประชุมและโรงภาพยนตร์
หมายเลข 6 เป็นที่จอดรถ
หมายเลข 7 เป็นอาคารสนามกีฬากิตติขจร หรือเรียกว่าอาคารอินดอร์สเตเดียม

 

ภาพ 2 สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก 

ภาพ 3 บัตรผ่านประตูประจำวัน 

ภาพ 4 ศาลาเกาหลี KOREA Building

ภาพ 5 ศาลาญี่ปุ่น JAPAN Building

ภาพ 6 ศาลาไต้หวัน REPUBLIC OF CHINA Building

ภาพ 7 ภายในศาลาไต้หวัน 

ภาพ 8 ศาลาออสเตรเลีย AUSTRALIA Building

ภาพ 9 ศาลาปากีสถาน PAKISTAN Building

ภาพ 10 ศาลาฟิลิปปินส์ PHILIPPINES Building

ภาพ 11 ศาลาอินเดีย INDIA Building

ภาพ 12 ศาลาสิงคโปร์ REPUBLIC OF SINGAPORE Building

ภาพ 13 ศาลาอเมริกัน USA Building

        ภาพ 2 แสดงให้เห็นอาคารสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ในระหว่างการก่อสร้าง พ.ศ. 2509 เนื่องจากเวลานั้น สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ตั้งอยู่ที่บริเวณคลองจั่น ซึ่งไกลจากพื้นที่จัดงานแสดงสินค้า คณะกรรมการจัดงานฯ เห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่สะดวกในการพิทักษ์รักษาทรัพย์สินของชาวต่างประเทศที่นำสินค้ามาจัดแสดงในงานฯ คณะกรรมการจัดงานฯ จึงได้มีมติให้สร้างที่ทำการ สถานีตำรวจนครบาลหัวหมากขึ้นใหม่ ณ ที่ทำการปัจจุบัน ลักษณะเป็นเรือนทรงไทย ตัวอาคารเป็นตึก มีสถานีตำรวจดับเพลิงหัวหมากรวมอยู่ด้วย

        ภาพ 3 เป็นภาพบัตรผ่านประตูประจำวัน ของวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 หน้าบัตรระบุราคา 3 บาท และสามารถนำบัตรไปแลกของสมนาคุณได้ 

        ศาลาเกาหลี (ภาพ 4) ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของประตูทางเข้าด้านหน้า เคยถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับจำหน่ายตำรา ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนถูกรื้อถอน เพื่อใช้พื้นที่สร้างเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดี   ในปี 2514 นักศึกษาทั้งหลายไปซื้อตำราและอุปกรณ์ทางการศึกษาได้ที่ศาลาเกาหลีแห่งนั้น... ที่นั่น.. ทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทำงานกันแทบไม่ได้หยุดหย่อน เพื่อจำหน่ายและจัดส่งตำราเรียนให้แก่นักศึกษาทั่วประเทศ..

        คุณจามรี สีฟ้า รหัสประจำตัว 14-4-15291 กล่าวถึงการซื้อตำราเรียนที่มหาวิทยาลัยไว้ตอนหนึ่งว่า

"... ที่ตึกเกาหลี ที่นั่น เจ้าหน้าที่กำลังห่อตำราเพื่อส่งให้นักศึกษาต่างจังหวัดอย่างขะมักเขม้น กองตำราที่ห่อเสร็จเตรียมจะส่งสูงท่วมศีรษะ ดิฉันจึงทราบทันทีว่า ตำรายังไม่ได้รับเพราะเหตุนี้ ความขุ่นใจของดิฉันหายไป ดิฉันขอเข้าไปรับตำราด้วยตนเอง ก็ได้รับการต้อนรับจากอาจารย์ดีเกินคาด ความเป็นกันเองระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ผิดกับนักเรียนกับอาจารย์สมัยเราเรียนมัธยมมากมาย..."

        ศาลาญี่ปุ่น (ภาพ 5) เป็นอาคารอยู่ถัดจากศาลาเกาหลี ซึ่งต่อมา คณะบริหารธุรกิจ ได้นำศาลาญี่ปุ่นมาใช้เป็นอาคารที่ทำการคณะ และเป็นอาคารเรียนในระยะแรก (รวมถึงภาควิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย) ก่อนที่จะย้ายไปยังอาคารศรีสัชชนาลัย  

        ศาลาอเมริกัน (ภาพ 13) อาคารนี้เป็นรูปทรงที่แปลกตา หลังคาถูกมุงด้วยไฟเบอร์กลาสสี ซึ่งยังไม่มีขายในประเทศไทย ต่อมา อาคารดังกล่าวถูกปรับปรุง ใช้เป็นโรงอาหารของมหาวิทยาลัยรามคำแหง  มีอาหารชื่อเด่นว่า ข้าวผัดศาลาอเมริกัน ภายหลังได้มีการรื้อถอน และใช้พื้นที่สร้างเป็นอาคารคณะรัฐศาสตร์   

..............................................................