เหตุการณ์ 14 ตุลา

ข่าวรามคำแหง ปีที่ 03 ฉบับที่ 07

แถลงการณ์เกี่ยวกับการลบชื่อนักศึกษา 9 คน

ข่าวรามคำแหง ปีที่ 03 ฉบับที่ 08

คำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 283/2516 เรื่อง เปลี่ยนแปลงการลงโทษนักศึกษา

ข่าวรามคำแหง ปีที่ 03 ฉบับที่ 09

คำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2/2516 เรื่อง พิจารณาการอุทรณ์ลงโทษนักศึกษา

        หนึ่งในเหตุการณ์เชื่อมโยง และลุกลามไปสู่เหตุการณ์การนองเลือด “14 ตุลา วันมหาวิปโยค” โดยมีจุดเริ่มต้นเกิดจากคำสั่งที่ 272/2516 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2516 “คำสั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากทะเบียนนักศึกษา” (นายแสง รุ่งนิรันดรกุล, นายวันชัย แซ่เตียว, นายบุญส่ง ชเลธร, นายวิสา คัญทัพ, นายสมพงษ์ สระกวี, นายสุเมธ สุวิทยะเสถียร, นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ, นายประเดิม ดำรงเจริญ และนางสาวปราณี เมฆศรีสวสัดิ์ ) เหตุเนื่องจากได้ร่วมกันออกหนังสือที่มีชื่อว่า “รามคำแหงมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ” ซึ่งในหนังสือ เล่มนี้ได้มีเนื้อหาความหนึ่งกล่าวว่า “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่อ อายุสัตว์ป่าทั้งหลายไปอีก 1 ปี” ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกมองว่าพาดพิงถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาลคณะปฏิวัติ (ซึ่งในขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) ใน 2 กรณี คือ กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร และกรณีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในฐานะผู้บัญชาการทหารสุงสุด และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว

        ทั้งนี้จากข้อความดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง สั่งคัดชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากบัญชีนักศึกษา โดยตั้งข้อหาว่า "นักศึกษาตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้สถานที่ชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพละการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย ในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชัง ตำหนินักศึกษาที่ตั้งหน้าเล่าเรียนว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว"

        หลังจากทางมหาวิทยาลัยได้ลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนออกจากทะเบียนนักศึกษาแล้ว ต่อมาได้ออกแถลงการณ์ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หน้าแรกของข่าวรามคำแหงปีที่ 3 ฉบับที่ 7 วันที่ 23 มิถุนายน 2516 เพื่อชี้แจงสาเหตุและเหตุผลของการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนออก

        จากแถลงการณ์ดังกล่าว จึงอาจทำให้เห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีความไม่เป็นธรรมและตัดสินใจลงโทษเกินจริงต่อนักศึกษาทั้ง 9 คน จึงทำให้การสั่งลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน ในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสาธารณชน ตลอดจนสื่อมวลชนทั่วไป รวมถึงนักศึกษาทั่วประเทศที่ได้ออกมารวมตัวกันประท้วงโดยมี ศนท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) เข้าร่วมสนับสนุนด้วย การประท้วงในครั้งนี้มีนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันนับหมื่นคน เข้าร่วมเดินขบวนประท้วงจากทบวงมหาวิทยาลัยไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 โดยในระยะแรกการเรียกร้องของนักศึกษาต้องการเพียงแค่ให้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คน กลับเข้าเรียนดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมาได้มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม คือ ให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

ehdtEZ.jpg
ehdwVI.jpg
ehdKYP.jpg
ภาพข่าว : นักศึกษาเดินขบวนประท้วงกรณีการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน
(ภาพจาก ยังไม่ทราบที่มาของภาพ. 2516)

        ผลการประท้วงทำให้นักศึกษาทั้ง 9 คนได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ส่วน ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐบาลสัญญาว่าจะให้รัฐธรรมนูญในเร็ววัน ซึ่งบรรดาผู้นำนักศึกษาได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้ชุมนุมว่าอีก 6 เดือน ถ้ารัฐบาลไม่ยอมคืนรัฐธรรมนูญให้ประชาชน ก็ขอให้ทุกคนมาพบกันเพื่อทวงถามด้วยการเดินขบวนประท้วงอีกครั้ง

        จากเหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มผู้นำนักศึกษา ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้น และในเวลาต่อมาได้มีการร่วมเซ็นต์ชื่อในคำประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน จนกระทั่งเกิดการจับกุมสมาชิก “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ที่ออกเดินรณรงค์ แจกใบปลิว และหนังสือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กลายเป็นจุดชนวนประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่เหตุการณ์ “14 ตุลา” ในที่สุด

..............................................................

* บรรณารักษ์ปฏิบัติการ, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2566, มีนาคม 1)