การปฐมนิเทศครั้งปฐมฤกษ์

เรียบเรียงโดย เวธกา บุณยะฤทธิ์*

        การจัดปฐมนิเทศนักศึกษาถูกจัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ ให้นักศึกษาได้รู้จักสถาบัน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอน รวมถึงให้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกสร้างเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา การปฐมนิเทศนักศึกษาก่อนการเรียนจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการปฏิบัติตนในระบบการเรียน ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการปฐมนิเทศก่อน การขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษาจึงจะสมบูรณ์ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2514 ข้อ 8.1 กล่าวว่า “ผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาแล้วต้องรับการปฐมนิเทศตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด จึงจะขอขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาได้ และจะมีสถานภาพเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยได้ขึ้นทะเบียนผู้นั้นเป็นนักศึกษา"  

       การปฐมนิเทศครั้งปฐมฤกษ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 โดยมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอใช้ “สนามศุภชลาศัย” ของกรมพลศึกษาเป็นที่ปฐมนิเทศผู้สมัครเข้าศึกษา รุ่นที่ 1 ซึ่งจากความตอนหนึ่งในหนังสือ (พลิกปูมรามคำแหง, 2551, น.100-102) กล่าวไว้ว่า...

       ...การจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งโดยปกติมีรถยนต์ไม่มากนักไปมาสะดวก แต่เช้าวันนั้นรถบนถนนมีมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเส้นทางมุ่งไปยังสนามกีฬาแห่งชาติแน่นติดขัดมาก คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องเดินทางไปถึงแต่เช้ามืด เพื่อเตรียมงานให้พร้อม วันนั้นบนอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย (กรีฑาสถานแห่งชาติ) ทุกด้านเต็มไปด้วยนักศึกษา ครูอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่มาปฐมนิเทศมีจำนวนประมาณ 37,198 คน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการประชุมที่มีคนจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการครั้งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยครั้งที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่ง นักศึกษาต่างยินดี กระตืนรือร้น ตื่นเต้น และปลื้มปิติอย่างเห็นได้ชัดเจน...

       ถึงแม้ว่าจะมีนักศึกษาเข้ารับการปฐมนิเทศจำนวนมากถึง 37,198 คน แต่มหาวิทยาลัยก็ได้เตรียมการตั้งรับมาเป็นอย่างดี โดยมีขั้นตอนการเข้ารับการปฐมนิเทศ ดังนี้ 1) นักศึกษาลงทะเบียนตรวจบัตร ประทับตรา ปั๊มข้อความว่า “ผ่านปฐมนิเทศแล้ว” เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์ต่อไป 2) รับข่าวรามคำแหงซึ่งถูกจัดทำเพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา 3) เข้ารับการปฐมนิเทศ

efXh6Q.jpgefXfRV.jpgefX3WS.jpg
ภาพบรรยายกาศการปฐมนิเทศครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2514
                ที่มา. จาก ข่าวรามคำแหงปีที่ 1, ฉบับที่ 2 (หน้า 2), โดย มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, กรุงเทพฯ.

        เมื่อถึงกำหนดเวลา พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี นั่งอยู่บนอัฒจันทร์ด้านมีหลังคา โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยืนอยู่ที่โพเดี่ยมกลางสนามกีฬา เตรียมกล่าวรายงาน มีอาจารย์ ดร.บรรพต (จิรโชค) วีรสัย เป็นพิธีกร ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ กล่าวรายงานกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และวัตถุประสงค์การปฐมนิเทศต่อประธานฯ จากนั้นประธานในพิธีกล่าวคำปราศรัย และเปิดการปฐมนิเทศ และเดินทางกลับในเวลาต่อมา จากนั้น อาจารย์ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล กล่าวชี้แจงเรื่อง "ตารางเรียน ตารางสอบ การลงทะเบียนเรียน" เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจระบบ ขั้นตอนและวิธีการ และในลำดับท้ายสุดคณบดีแต่ละคณะพบนักศึกษา เป็นอันเสร็จพิธี  

คำปราศรัยของพลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเปิดการปฐมนิเทศนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2514

         ถึงแม้ว่าจะมีการปฐมนิเทศนักศึกษาไปแล้ว แต่ยังมีนักศึกษาที่ต้องการเรียนอีกมาก ทั้งนักศึกษาตกค้างที่เพิ่งมาสมัครใหม่ รวมถึงนักศึกษาที่มาไม่ทันปฐมนิเทศรอบแรก อีกจำนวนกว่า 8,000 คน ทำให้ต้องจัดการปฐมนิเทศผู้สมัครเข้าศึกษา รุ่นที่ 2 ในเช้าวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 ณ บริเวณลานพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพิ่มอีกหนึ่งรอบ  

efX91n.jpgefXteW.jpgefXTAg.jpg
ภาพบรรยากาศการปฐมนิเทศรอบ 2 ณ บริเวณด้านหน้าตึกอธิการบดี (AD1) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2514
ที่มา. จาก ข่าวรามคำแหงปีที่ 1, ฉบับที่ 7 (หน้า 1), โดย มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, กรุงเทพฯ.

         การปฐมนิเทศทั้งสองคราวได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ซึ่งจากจำนวนผู้เข้ารับการปฐมนิเทศในแต่ละครั้งจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่ต้องการเข้ารับการศึกษาต่อในชั้นระดับอุดมศึกษา สืบเนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนที่เรียน เพราะมหาวิทยาลัยอื่นๆ มีการจำกัดจำนวนในการเปิดรับนักศึกษา จึงทำให้นักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาในแต่ละปี ตกค้างเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสร้างให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา เปิดโอกาสการศึกษาแก่คนทุกชนชั้น และเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละบุคคลได้  

เอกสารอ้างอิง

..............................................................

* บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2566, มีนาคม 1)