กว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เรียบเรียงโดย ธนกร ช่อไม้ทอง *
มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งมาแล้วร่วม 50 ปี กว่าจะเป็นรามคำแหง... ไม่ใช่เรื่องง่าย... ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความทรงจำดีๆ ของชาวรามคำแหงครับ
บุคคลสำคัญ.. ท่านแรกที่ต้องกล่าวถึง ได้แก่ "ท่านประมวล กุลมาตย์"
ท่านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชุมพร (จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคสหประชาไทย) และมีความประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหานักเรียนที่เรียนจบ ม.ศ.5 แล้ว แต่ไม่มีสถานศึกษาต่อเพียงพอ โดยท่านได้เสนอให้ออกกฎหมายบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คืนสภาพกลับสู่ตลาดวิชาเหมือนดังแต่ก่อน แต่ก็ได้รับการคัดค้าน (เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาแห่งแรกของประเทศ ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และเปลี่ยนจากแบบตลาดวิชาเป็นมหาวิทยาลัยแบบจำกัดรับ ในปี 2505) ในที่สุด จึงสรุปได้ว่าจะต้องเสนอกฎหมาย เปิดตลาดวิชา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
ในเดือนเมษายน 2512 ท่านประมวล กุลมาตย์ ได้สนทนากับ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เพื่อหาทางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ครั้นถึงเดือนสิงหาคม 2512 มีการประชุมของพรรคสหประชาไทย ณ ห้องประชุมโรงแรมนารายณ์ ท่านประมวล กุลมาตย์ กับคณะ รวม 7 คน ได้เสนอร่าง “พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวชิราลงกรณ์” ต่อที่ประชุมพรรคและรัฐบาล ครั้งแรกในที่ประชุมขอรับร่าง พ.ร.บ. ไปพิจารณาก่อน 6 เดือน แต่มีผู้คัดค้านจำนวนมาก เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ซึ่งเข้าสังเกตการณ์ในการประชุม จึงขออนุญาตพูดชี้แจง จนในที่สุดเมื่อหารือกันแล้ว ประธานในที่ประชุม (นายพจน์ สารสิน) จึงยอมตกลงที่จะรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ. นี้ และจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2512 สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ได้รับร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวชิราลงกรณ์แล้ว นำเข้าบรรจุระเบียบวาระการประชุม ครั้งที่ 17/2512
9 ตุลาคม 2512 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคสหประชาไทยได้ร่วมกันเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย... พ.ศ. 2512” เมื่ออภิปรายแล้ว ที่ประชุมลงมติรับหลักการและส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 15 คน พิจารณา
16 กรกฎาคม 2513 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้ว ได้ส่งกลับให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ผ่านร่าง พ.ร.บ. นี้ ไปให้วุฒิสภาพิจารณา วันที่ 24 กรกฎาคม 2513 และบรรจุเข้าวาระในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 4/2513 (สามัญ)
29 กรกฎาคม 2513 วุฒิสภา ลงมติรับหลักการแห่ง “ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย........ พ.ศ. ....” และในเดือนสิงหาคม 2513 คณะรัฐมนตรีจึงลงมติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะหนึ่ง ให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และบุคคลอื่นๆ อีก รวม 7 ท่าน
2 กันยายน 2513 คณะกรรมาธิการการศึกษาฯ วุฒิสภา ได้พิจารณาเสร็จในวาระที่ 2 และลงมติในวาระ 3 แก้ไขเพิ่มเติม ข้อความบางส่วนแล้ว ได้มีการตั้งชื่อและเปลี่ยนชื่อเรียก ตามมติของที่ประชุมเดิมรวม 4 ชื่อ คือ วชิราลงกรณ์, กรุงไทย, รัตนโกสินทร์ และรามคำแหง ในที่สุด คณะกรรมการได้ลงมติให้ใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” พร้อมทั้งได้ส่งคืนร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง มายังสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้งหนึ่ง
9 กันยายน 2513 สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาได้ร่วมประชุมกันและแต่งตั้งกรรมาธิการร่วม รวม 30 ท่าน โดยแยกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 15 ท่าน หนึ่งในคณะกรรมาธิการนั้น คือ ท่านประมวล กุลมาตย์
3 พฤศจิกายน 2513 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติ แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เป็นประธานกรรมการร่วมกับบุคคลอื่นๆ อีก รวม 8 ท่าน ซึ่งดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติให้ใช้สถานที่แสดงสินค้าของทางราชการที่ตำบลหัวหมาก เป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นสถานที่ตั้งชั่วคราว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2513
21 มกราคม 2514 ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2514 (วิสามัญ) สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับ “ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514”
วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2514 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514” โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และถือเป็นวันแรกของการเปิดคณะมนุษยศาสตร์
“พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514” ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2514
จากความโดยย่อที่เล่ามานั้น จะเห็นว่า ต้องใช้เวลาดำเนินการต่างๆ ร่วม 2 ปีเต็ม กว่าจะสำเร็จเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว... ท่านประมวล กุลมาตย์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 นับถึงปี 2563 นี้ ก็ผ่านมาราว 36 ปีแล้ว
กราบขอบพระคุณทุกอย่างที่ท่านได้ทุ่มเทเอาไว้ให้ ด้วยความเคารพและระลึกถึง
..............................................................
* นักเอกสารสนเทศชำนาญการพิเศษ, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2563, มิถุนายน 19)