พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ห้องประชุม ใต้พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

แผ่นคำจารึก ติดแท่นที่ประดิษฐาน
พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ขณะประดิษฐานภายในอาคาร AD1 แบบชั่วคราว 

เรียบเรียงโดย สุฑามาส ดัสดูล*

            ปี พ.ศ. 2515 หลังจากมหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้สถานเป็นการถาวร (บุปผา บุญทิพย์, 2542, หน้า 14-15) ในขณะนั้นได้มีการหารือถึงถาวรวัตถุสิ่งแรกที่เห็นว่าจำเป็นและต้องก่อสร้างก่อน คือ ที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 

            ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 4/2515 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2515 จึงได้มีมติอนุมัติเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นค่าก่อสร้างที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และให้มีห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยไว้ข้างใต้ด้วย เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท โดยใช้พื้นที่บริเวณลานหน้าหอประชุม AD1 อาคารสำนักงานอธิการบดีในสมัยนั้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นวงเวียนน้ำพุ พื้นที่กว้างเหมาะสมสามารถใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ และได้ทำการประกวดราคาดำเนินการก่อสร้างในราคา 829,000 บาท มีรายการจ้างเพิ่มเติมอีก 1 รายการ คือ การปูหินอ่อนที่บันไดขึ้นลง ที่ชานวงกลมตอนบน และตรงฐานที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกเป็นเงิน 94,000 บาท รวมงบประมาณที่ใช้เป็นเงิน 923,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2516 (มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2518, หน้า 8)

            สำหรับพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จัดสร้างตามแบบของกรมศิลปากร เป็นเนื้อโลหะทองเหลืองผสมทองแดงและรมดำ มีความสูงจากพื้นฐานถึงยอดพระมาลา 115 เซนติเมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือหนังสือ และประทับบนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ ช่างผู้หล่อพระบรมรูปนี้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร การหล่อพระรูปต้องใช้วิธีแยกเททองเป็นส่วน ๆ รวมถึง 5 ส่วน กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ต้องใช้เวลาถึง 8 เดือนเศษ (มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2518, หน้า 9) หลังจากที่หล่อพระบรมรูปเสร็จสิ้น มหาวิทยาลัยได้รับมอบไว้เมื่อวันที่  26 ธันวาคม 2514 และนำไปประดิษฐานชั่วคราวที่ห้องโถง สำนักงานอธิการบดี AD1 ในขณะนั้น เพื่อรอการก่อสร้างสถานที่ประดิษฐานถาวร (สุพัตรา ศิริวัฒน์, 2559, หน้า 9) 

            นอกจากนี้ ที่พระแท่นประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังได้มีการจัดทำแผ่นคำจารึกทำมาจากหินแกรนิตสีดำที่ รองศาสตราจารย์ประทีป วาทิกทินกร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ เป็นผู้เขียนข้อความจารึกลงในแผ่นแกรนิต โดยคำแนะนำของ ศาสตราจารย์คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส (อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์, 2552, หน้า 72-73) ความว่า 

            “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พระร่วง เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1820 และสวรรคตประมาณ พ.ศ. 1860 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นนักรบเก่งกล้า ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถ ทรงเป็นนักปราชญ์ที่คิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826
            มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้อัญเชิญพระนามาภิไธยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาเป็นนามมหาวิทยาลัย ทั้งได้สร้างพระบรมรูปประดิษฐานไว้ เพื่อเป็นเกียรติ และที่เคารพสักการะของนักศึกษา และคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนี้ ขอสถาบันนี้จงสถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่คู่กับประเทศไทย เป็นที่ประสิทธิ์ประสาทศิลปะวิทยาการแก่ประชาชนถ้วนทุกหมู่เหล่าตลอดไป”

            ต่อมา เมื่อที่ประดิษฐานพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และการปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สำเร็จลุล่วงเป็นส่วนใหญ่แล้ว เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้นำความกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และกราบบังคมทูลเชิญพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันเดียวกันด้วย 

เอกสารอ้างอิง

..............................................................

* บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2563,  มิถุนายน 22)