พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1

แผนผังแสดงการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รุ่นที่ 1

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ ขึ้นทูนเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูนเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของผู้สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 1

เรียบเรียงโดย วิภาวี คุ้มภัยเพื่อน* 

            พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี  

            เมื่อมหาวิทยาลัยได้ทราบวันดังกล่าวแล้ว จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่และการอารักขา โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง ได้ตกแต่งบริเวณระเบียงทางเข้าหอสมุดกลางเป็นเวทีที่ประดับเพื่อประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และภายในตึกหอสมุดกลางได้ตกแต่งสถานที่เป็นห้องประทับรับรองเพื่อฉลองพระองค์ครุยวิทยฐานะ และประทับพักผ่อนตามพระราชอัธยาศัย 

            ด้านข้างเวทีที่ประทับในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มีที่นั่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมพิธี ส่วนบัณฑิตที่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร คณาจารย์ และผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญมาในพิธีได้จัดเก้าอี้อย่างเหมาะสมไว้บริเวณสนามหญ้าหน้าสำนักหอสมุดกลาง โดยนั่งหันหน้าเข้าที่ประทับ เตรียมพร้อมที่จะเดินเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรบนเวที 

            หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูนเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรองอธิการบดีทูนเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

            จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย 

            เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

            นายกสภามหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ ขึ้นทูนเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูนเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ     

            จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษย์ศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517

            หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

            “มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

เอกสารอ้างอิง

..............................................................

บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2563, มิถุนายน 24)